กทม. เตรียมออกแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประจำปี

กทม. เตรียมออกแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประจำปี

ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมร่างแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และแนวทางการใช้คู่มือเมื่อเวลา 12.15 น. วันที่ 18 ตุลาคม ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า

ผศ.ดร.ทวิดา กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมร่างแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของ กทม. ประจำปี 2564-2570 เพื่อส่งให้กับทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ภายในเดือนตุลาคมนี้ รวมถึงการจัดทำแผนป้องกันประจำปี แผนป้องกันประจำเขต คู่มือแผนเผชิญเหตุ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟไหม้ สารเคมีรั่วไหล ภายในสิ้นปีนี้ โดยมีทั้งผู้อำนวยการเขตทุกเขตเข้าร่วมประชุมด้วย

ผศ.ดร.ทวิดา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นผู้ทำแผน แต่สำนักงานเขตเป็นผู้รู้ข้อมูลในพื้นที่ได้ดีที่สุด จึงต้องเป็นผู้ให้ข้อมูลในการจัดทำแผน อีกทั้งแผนดังกล่าวยังเป็นแนวทางการจัดทำงบประมาณในอนาคต เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ป้องกันภัยต่างๆ ทั้งนี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. มีนโยบายจัดทำแผนที่ความเสี่ยงกรุงเทพฯ โดยเริ่มจากภัยหลักที่เกิดขึ้นเป็นประจำ ซึ่งผอ.เขตจะเป็นผู้ใช้แผนที่และผู้ให้ข้อมูล ซึ่งจะเกิดฐานข้อมูล ให้มีความสมเหตุสมผลในการใช้งบประมาณ และการบริหารจัดการพื้นที่

ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

“ภายในสัปดาห์นี้ แต่ละสำนักงานเขตต้องเริ่มส่งทยอยข้อมูลมาให้ กทม.เพื่อที่จะรู้ถึงข้อมูลพื้นที่ และความต้องการในพื้นที่ และในสัปดาห์หน้าจะนำเรื่องเข้าคณะกรรมการร่างแผนของ กทม. อีกทั้งการทำแผนที่ชุมชน การฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุ จะทำภายใต้แผนแม่บทหลัก โดยหวังว่าจะทำให้เป็นระบบมากขึ้น นอกจากนี้ ผู้แทนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และผู้แทนสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดที่ติดกรุงเทพฯ มาร่วมประชุมด้วย เพื่อเป็นการประสานแผนร่วมกัน” ผศ.ดร.ทวิดากล่าว

ผศ.ดร.ทวิดา กล่าวต่อไปว่า สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระบุภัยหลักในกรุงเทพฯ ที่เกิดขึ้น 3 อันดับ ได้แก่ 1.น้ำท่วม 2.อัคคีภัย 3.อุบัติเหตุและภัยแล้ง อย่างไรก็ตามแต่ละเขตจะมีภัยไม่เหมือนกับที่ กทม.กำหนดได้ อย่างเขตที่มีโรงงานจำนวนมากตั้งอยู่ ภัยความเสี่ยงสารเคมีรั่วไหลอาจจะเป็นอันดับต้นๆก็ได้ หรือปัญหาน้ำเค็มรุกพื้นที่ทำการเกษตร ซึ่งเวลาเกิดเรื่องทาง กทม.จะสามารถจัดสรรทรัพยากรให้ความช่วยเหลือแต่ละเขตได้

“ในกรุงเทพฯ เวลาเกิดเรื่องจริงๆ คนที่เป็นตัวหลักคือผอ.เขต ผู้ว่าฯ ชัชชาติ จึงอยากให้เวลาที่เกิดเหตุขึ้น ผอ.เขตต้องเป็น ผอ.บรรเทาสาธารณภัยระดับเขต ซึ่งสามารถบัญชาการ ดูแลเรื่องราวได้เป็นอย่างดี ซึ่งต้องมีคู่มือขั้นตอน พร้อมกับแผนเผชิญเหตุภายในสิ้นปีนี้” ผศ.ดร.ทวิดากล่าว

ทั้งนี้ สำหรับจัดทำแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2564 – 2570 และการจัดทำคู่มือบริหารจัดการสาธารณภัยสำหรับผู้อำนวยการเขตในครั้งนี้ เป็นไปตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 มาตรา 32 กำหนดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร ให้สอดคล้องกับแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ scuolaappiavecchia.com

ufa slot

Releated